เอกสารหรือหนังสือรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) จากนายจ้าง คือเอกสารที่ระบุว่าปีนั้น ๆ ของผู้ยื่นภาษีมีรายได้รวมเท่าไหร่ โดยจะได้รับหนังสือรับรองเงินเดือนจากฝ่ายบุคคลในทุกต้นปี ก่อนจะนำไปยื่นภาษี
- รายได้จากเงินเดือน เป็นเงินเดือนหรือเงินได้ตามสัญญาจ้างแรงงาน มาตรา 40(1) หรือเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
- รายได้จากงานฟรีแลนซ์ รับจ้างทั่วไป วิชาชีพอิสระ เบี้ยประชุม หรือค่านายหน้า มาตรา 40(2) หรือ ค่าตอบแทนจากการประกอบวิชาชีพอิสระ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม มาตรา 40(6)
- รายได้จากทรัพย์สิน และการทำธุรกิจ
- รายได้จากการลงทุน
- รายได้จากมรดกหรือได้รับมา เงินได้จากการให้หรือการรับ มาตรา 40(8)
ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
ต้องเป็นผู้เลี้ยงดูพ่อแม่ของตนเองที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ในกรณีที่พ่อแม่มีรายได้ต่อปีไม่ถึง 30,000 บาท ก่อนยื่นภาษีจะต้องกรอกหนังสือรับรองการลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา(แบบ ล.ย.03) จึงสามารถนำไปยื่นขอลดหย่อนได้ตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในรายการลดหย่อนภาษี
กรณีจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีพ่อแม่หากคุณไม่ใช่ลูกคนเดียว ผู้ที่จะยื่นต้องไปตกลงกับพี่น้องของคุณในเรื่องการใช้สิทธินี้ก่อน ว่าใครจะเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีพ่อแม่ในปีนั้น ๆ เพื่อป้องกันการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีที่ซ้ำซ้อน
ค่าเลี้ยงดูบุตร
หากมีลูกสามารถนำมาเป็นรายการลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท และลูกของผู้ยื่นจะต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้น แต่ถ้าเลี้ยงบุตรบุญธรรมก็สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน หากผู้ยื่นมีบุตรตามกฎหมายอยู่ 3 คนแล้ว จะไม่สามารถรวมบุตรบุญธรรมเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มได้
ทั้งนี้บุตรแต่ละคนจะต้องไม่มีเงินได้พึงมี(รายได้จากการทำงาน)เกิน 30,000 บาท และเป็นผู้เยาว์หรือในกรณีที่บุตรอายุไม่เกิน 25 ปี ต้องกำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาอยู่
ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ
คนที่เลี้ยงดูพ่อแม่ บุตร และคู่สมรสที่พิการหรือทุพพลภาพ สามารถนำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้แบบเหหมาคนละ 60,000 บาทต่อปี แต่ถ้าผู้พิการหรือทุพพลภาพที่ดูแลอยู่นั้นไม่ใช่พ่อแม่ บุตร หรือคู่สมรส ผู้ยื่นจะใช้สิทธิหักลดหย่อนแบบเหมา 60,000 บาทต่อปี ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ถ้าดูแลคู่สมรสซึ่งไม่มีรายได้เลย และมีความพิการหรือทุพพลภาพ ผู้ยื่นจะสามารถหักลดหย่อนคู่สมรสได้ 60,000 บาท และยังหักลดหย่อนผู้พิการได้อีก 60,000 บาท รวมเป็นเงินลดหย่อนทั้งสิ้น 120,000 บาท
ค่าเลี้ยงดูคู่สมรส
ค่าเลี้ยงดูคู่สมรสหรือค่าลดหย่อนคู่สมรส สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องถามกฎหมาย และคู่สมรสของผู้ยื่นนั้นจะต้องไม่มีรายได้เลย โดยสามารถลดหย่อนได้จำนวน 60,000 บาท
เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาใช้เป็นค่าลดหย่อยภาษีได้ตามที่จ่ายจริงรวมสูงสุดปีละ 15,000 บาท สำหรับผู้ที่จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต
เบี้ยประกันชีวิตสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท และหากรวมกับเงินฝากแบบมีประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยกรมธรรม์ต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันสุขภาพ
ผู้ที่ทำประกันสุขภาพสามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แต่กรณีทำประกันสุขภาพร่วมกับประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี หรือถ้าทำร่วมกับประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำเบี้ยรวมไปหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 215,000 บาทต่อปี
หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันสังคม
ประกันสังคมเป็นหนึ่งในรายการลดหย่อนภาษี โดยแต่ละองค์กรหรือบริษัทจะหักเงินเดือนของคุณไปแล้ว 5% ตามผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท (จาก 9,000 บาท)
นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ลาออกจากงานประจำหรือเป็นพนักงานฟรีแลนซ์ ก็สามารถสมัครทำประกันสังคมเองได้ตามผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ซึ่งผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 3,003 บาท เนื่องจากปี 2564 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม และผู้ประกันตนมาตรา 40 จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 700 - 3,000 บาท ตามที่จ่ายจริง
หนังสือรับรองการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย
การกู้เงินเพื่อซื้อหรือสร้างบ้านที่อยู่อาศัย จัดอยู่ในรายการลดหย่อนภาษี หากผู้ยื่นมีภาระผ่อนบ้าน ซื้อบ้าน สร้างบ้าน เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารใด ๆ เพื่อที่อยู่อาศัย ก็สามารถนำจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระทั้งหมดต่อปีไปลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
เอกสารจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน
- กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ กองทุน SSF สามารถซื้อกองทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ซื้อปีไหนลดหย่อนปีนั้นได้เลย ซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท หักภาษีได้ปีต่อปี ตั้งแต่ปี 2563 - 2567
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ กองทุน RMF สามารถซื้อกองทุนเพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีได้ โดยซื้อสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ เงื่อนไขการหักภาษีตั้งแต่ 2563 เป็นต้นไป
เอกสารค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการอื่น ๆ และสิทธิการลดหย่อนจากโครงการรัฐบาล
เอกสารข้อมูลที่ต้องใช้ยื่นภาษีออนไลน์เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก หากผู้ยื่นได้รับรายได้จากบริษัทเพียงทางเดียวก็สามารถใช้ใบทวิ 50 ได้เลย แต่ถ้าหากมีรายได้หลายช่องทาง ผู้ยื่นเสียภาษีจำเป็นจะต้องเตรียมเอกสารแสดงการหักภาษีของหน่วยงานที่จ้างไว้อย่างครบถ้วนด้วย